

Academic Forum
กลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


เศรษฐกิจพอเพียง
(Sufficiency Economy)
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ กรอบแนวคิดเพื่อการปฏิบัติตน
โดยยึดหลักทางสายกลาง และความพอเพียง ผ่านการใช้ชีวิตบนหลัก
ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พร้อมด้วยความรู้และ
คุณธรรม ซึ่งผู้คนทุกวัยสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน รวมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้คน ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เป็นต้น

ประวัติเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยพระองค์มีพระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเน้นเกี่ยวกับ ความพอมี พอกิน พอใช้ ความว่า
"...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้อง
ตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้าง
ค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป..."
จากพระราชดำรัสข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชนนั้นถือเป็นรากฐานสำคัญของ
การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ จากนั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตบนหลักทางสายกลาง และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่นในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2539 ความว่า
"...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า
ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป
แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก..."
หลักเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญและได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยและหลายทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ มีความพอเพียงกับตนเอง โดยอาศัยการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน ไม่เพียงมุ่งหวังแต่จะสร้างความเจริญ ยกฐานะทางเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องมาจากรากฐานที่มั่นคงเสียก่อน และยังมีความสอดคล้องกับแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals อันเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง



องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่าเป็นกษัตริย์นักพัฒนา หรือ “Developer King” พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (Human Development Lifetime Achievement Award) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2549
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา : www.porpeang.org

หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
3 ห่วง คือ ทางสายกลาง ประกอบไปด้วย ดังนี้
ห่วงที่ 1 พอประมาณ หมายถึง พอประมาณในทุกอย่าง ความพอดีไม่มากหรือว่าน้อยจนเกินไปโดยต้องไม่เบียดเบียนตนเอง หรือผู้อื่นให้เดือดร้อน
ห่วงที่ 2 มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
ห่วงที่ 3 มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
2 เงื่อนไข ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่
เงื่อนไขที่ 1 เงื่อนไขความรู้ คือ มีความรอบรู้เกี่ยวกับ วิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการ วางแผน และความระมัดระวังในขั้นตอนปฏิบัติ คุณธรรมประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
เงื่อนไขที่ 2 เงื่อนไขคุณธรรม คือ มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตามแนวพระราชดำริ
เศรษฐกิจพอเพียงความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่ โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการ และแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรม เฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐาน กับ แบบก้าวหน้า ได้ดังนี้ความพอเพียงในระดับบุคคล และครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่

ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง
พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืช
ในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำต่างๆ
พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัว
ให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหาร
ประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่นๆ
ที่มา : http://www.sahakornthai.com
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองหรือทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
เมื่อพึ่งพาตนเองได้แล้ว เกษตรกรควรรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือและร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิต การตลาด สวัสดิการ รวมถึงเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้
การผลิต เกษตรกรควรร่วมกันกับการผลิตขั้นเริ่มแรกคือ เตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำและอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
การตลาด ถ้ามีผลผลิตแล้ว ควรแบ่งคนเพื่อเตรียมการต่าง ๆ ในการขายผลผลิตในที่ต่างๆ และได้ประโยชน์สูงสุด เช่น เตรียมหาลานตากข้าว หายุ้งรวบรวมข้าว และสิ่งที่ควรมีคือ เครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
ความเป็นอยู่ เกษตรกรควรมีกิน มีใช้ ไม่ขาดไม่เกิน ในการดำรงชีวิต คือ ด้านอาหารการกิน
สวัสดิการ ที่ควรมี คือ อนามัยของชุมชนเวลาคนป่วยไข้เพราะจำเป็นมาก หรือควรมีกองทุนไว้กู้ยืม
เพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
การศึกษา ควรมีกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชน
สังคมและศาสนา เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคน
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
เน้นไปที่การสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน ให้มีรายได้และฐานะมั่นคงขึ้น ซึ่งอาจรวมถึง การจัดตั้งสหกรณ์ แบ่งปันหน้าที่ ถ่ายทอดความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อจัดหาเงินทุน เช่น ธนาคารการเกษตร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน

ที่มา : https://thfarmers.com
เกษตรทฤษฎีใหม่ New Theory Agriculture

ที่มา : Youtube ช่อง พอเพียง org

การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
แนวทางการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับบุคคลและครอบครัว
-
หาความรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ
-
มีความอดทนและความขยันหมั่นเพียร
-
ประกอบอาชีพที่สุจริต อยู่บนหลักของความถูกต้อง
-
หาความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance)
-
รู้จักอดออม วางแผนทางการเงิน เช่น การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
-
ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลตามความเหมาะสมตามสถานภาพ บทบาท และหน้าที่ของตน ไม่ใช่การตระหนี่ ถี่เหนียว
-
เรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
-
ก่อนดำเนินการที่สำคัญ ควรมีการหาข้อมูล วางแผน และพิจารณาถึงผลที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
-
พิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งข้อมูลก่อนทุกครั้ง


แนวทางการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับเด็กและนักเรียน
-
พึ่งพาตนเอง และช่วยเหลือบุคคลในครอบครัวตามวัยและความสามารถ เช่น การแต่งตัว จัดกระเป๋าไปโรงเรียนเอง ช่วยทำความสะอาด เก็บสิ่งของให้เข้าที่เป็นระเบียบ
-
ตั้งใจศึกษาหาความรู้ และฝึกฝนทักษะที่จำเป็น
-
มีความอดทนและความขยันหมั่นเพียร
-
ช่วยเหลือครูอาจารย์และเพื่อนตามความสามารถของตน
-
รู้จักประหยัดและเก็บออม ฝึกแยกแยะสิ่งที่จำเป็นในชีวิต และสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือเพียงแค่อยากได้
-
เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม
แนวทางการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน
สำหรับโรงเรียน
-
ส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น
-
ปลูกฝังคุณธรรมเพื่อนำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง เช่น ความขยันหมั่นเพียร การประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย และความมีน้ำใจ เป็นต้น
-
ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นตัวอย่างการนำคุณธรรมและความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในชีวิตจริง เช่น การปิดน้ำและปิดไฟเมื่อไม่ใช้แล้ว การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รีไซเคิล ปลูกผักสวนครัว จัดตั้งธนาคารโรงเรียน
-
เปิดโอกาสให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน




